วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

วิธีเลือกของเล่นให้ลูกอย่างสมวัย

    วิธีเลือกของเล่นให้ลูกอย่างสมวัย
   ของเล่นและการเล่นของเด็กตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยเตาะแตะ เป็นสิ่งสำคัญ  เพราะนอกจากที่เจ้าหนูจะสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการเล่น  ของเล่นยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับลูกของคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย  ดังนั้น  การเข้าใจถึงพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้พ่อแม่สามารถเลือกของเล่นให้ลูกได้อย่างถูกต้องเหมาะสมนั่นเอง

 ของเล่นเด็กวัยแรกเกิด – 6 เดือน
  1. กระตุ้นการมองเห็น ได้แก่  ของเล่นที่มีสีสันสดใสเพื่อดึงดูดสายตา  เช่น  โมบายลวดลายกราฟฟิก   หรือรูปภาพที่มีสีตัดกันอย่างชัดเจน  เช่น  ดำ-ขาว / น้ำเงิน-เหลือง / แดง-เขียว เป็นต้น  หรือเลือกที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง ๆ เวลาที่ลมพัดก็ได้
  2. กระตุ้นการฟังเสียง ได้แก่ ของเล่นที่มีเสียง เช่น กล่องดนตรี ของเล่นที่เขย่าหรือบีบให้เกิดเสียง
  3. ของเล่นเสริมกล้ามเนื้อ ได้แก่ ของเล่นที่บีบหรือเขย่าแล้วเกิดเสียง ของเล่นที่มีมือสอดกำได้ ลูกบอลนุ่ม ตุ๊กตาผ้ารูปสัตว์ เพื่อส่งเสริมการใช้มือ-นิ้วมือสำหรับหยิบจับสิ่งต่าง ๆ
  4. ของเล่นเสริมสติปัญญา ได้แก่ หนังสือลอยน้ำ หนังสือภาพ โดยมีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใกล้ชิดคอยอ่านให้ฟัง และชวนดูสีสันต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหนังสือ  กระจกเงาฝึกการรู้จักตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

  ของเล่นเด็กวัย 6 – 12 เดือน
  1. กระตุ้นประสาทสัมผัส  ได้แก่ ของเล่นที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน เช่น เรียบ หยาบ นุ่ม แข็ง เพื่อกระตุ้นทักษะ การสัมผัส ของเล่นที่ดูด หรือกัดได้ เช่น  ยางกัดรูปทรงต่าง ๆ  เพื่อกระตุ้นการรับรู้และช่วยลดอาการคันเหงือกของเด็ก
  2. ของเล่นเสริมกล้ามเนื้อ ได้แก่ ของเล่นประเภทลากจูง    เพื่อฝึกการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อขา  เล่นลูกบอลนุ่ม  บล็อกไม้ใหญ่ ๆ  กล่องหยอดรูปทรงง่าย ๆ เพื่อฝึกการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือในการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ  ของเล่นที่เขย่าให้เกิดเสียง  เพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น มือ นิ้วมือ
  3. ของเล่นเสริมสติปัญญา ได้แก่ หนังสือที่มีรูปภาพขนาดใหญ่สีสันสดใส ซึ่งพ่อแม่อ่านให้ฟังหรือให้ลูกเปิดหนังสือด้วยตัวเอง  แล้วออกเสียงตาม กระจกเงาเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ของเล่นลอยน้ำ เช่น  ถ้วยกระป๋องเล็ก ๆ เมื่อลูกอาบน้ำให้ลูกรินน้ำและเทเล่นเพื่อปูพื้นทางคณิตศาสตร์เรื่องการกะปริมาณ เป็นต้น

  ของเล่นเด็กวัย 1 – 2 ขวบ 
  1. ของเล่นเสริมกล้ามเนื้อและการประสานสัมพันธ์   ได้แก่   ของเล่นประเภทดันหรือลากจูง (Push Toys & Pull Toys) ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อแขนขาในการทรงตัวและฝึกการบังคับทิศทางการเดิน  ของเล่นประเภททุบ ตอก หรือตี เช่น  ระนาดหรือกลองที่มีเสียงต่าง ๆ ซึ่งนอกจากทำให้เด็กเรียนรู้ความแตกต่างของเสียงแล้วยังฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือ   นิ้วมือ  และการประสานสัมพันธ์ระหว่างสายตาและมือ
  2. ของเล่นเสริมความคิดและสติปัญญา ได้แก่ กล่องหยอดรูปทรงเรขาคณิต    เพื่อฝึกการสังเกตและเรียนรู้สี    รูปทรงเลขาคณิตต่าง ๆ  หนังสือภาพ    เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและช่วยให้เด็กเรียนรู้ภาษา  การปั้นดินน้ำมัน แป้งโด ซึ่งช่วยฝึกสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ ในการปั้นให้เป็นรูปต่าง ๆ ตามจินตนาการของตัวเอง

  ของเล่นเด็กวัย  2 – 3 ขวบ  
  1. ของเล่นเสริมกล้ามเนื้อและการประสานสัมพันธ์   ได้แก่  ม้าโยก จักรยานสามล้อซึ่งนอกจากความสนุกสนานแล้วยังช่วยให้เด็กฝึกใช้กล้ามเนื้อแขนขาในการทรงตัว    สร้างความสมดุลของร่างกายฝึกร้อยลูกปัดขนาดใหญ่    เพื่อฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ   รวมทั้งช่วยพัฒนาการทำงานของสายตาและมือให้สัมพันธ์กัน
  2. ของเล่นเสริมความคิดและสติปัญญา  ได้แก่ แป้นเรขาสวมหลัก   เป็นการฝึกทักษะการแก้ไขปัญหา   ลองผิดลองถูกเพื่อวางให้ถูกรูปทรง  รถไฟเรียงซ้อน ฝึกทักษะการสังเกต  การลองผิดลองถูก   และเรียนรู้   เรื่อง   ขนาด สีสันและรูปทรงต่าง ๆ
  3. ของเล่นเสริมบทบาทสมมติ  ได้แก่ ชุดของเล่นเรียนแบบของจริง เช่น   ชุดรวมมิตรผักผลไม้ สอนเด็กให้เรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับผักผลไม้ โดยเล่านิทานผูกเรื่องราวให้เด็กสมมติตัวเองเป็นตัวละครในเรื่องราวนั้น ซึ่งทำให้เด็กได้แสดงความเป็นตัวเองออกมา และช่วยให้เด็กรู้จักเข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น

   ของเล่นเด็กวัย  4 – 6 ขวบ
  1. ของเล่นเสริมกล้ามเนื้อและการประสานสัมพันธ์  ได้แก่  รถจักรยานสองล้อ เชือกกระโดด ซึ่งช่วยฝึกการทรงตัวและสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อขา  ฝึกร้อยเชือกรองเท้า ช่วยพัฒนาการทำงานประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับมือและเพิ่มทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือเพื่อประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน เช่น  การติดกระดุมเสื้อ เป็นต้น
  2. ของเล่นเสริมความคิดและสติปัญญา ได้แก่  ชุดแท่งไม้สร้างเมือง ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กในการออกแบบโครงสร้าง เพื่อวางแท่งไม้ให้เป็นรูปแบบเมืองต่าง ๆ  ส่งเสริมความเข้าใจทางคณิตศาสตร์เรื่องของสมดุล  ซึ่งทำให้เด็กเรียนรู้การวางไม้แต่ละชิ้นให้สมดุลชุด เครื่องมือช่างสร้างสรรค์พัฒนาความคิด  และฝึกทักษะการสังเกตในการประกอบชุดไม้เป็นรูปแบบต่าง ๆ  รวมทั้งทำให้เด็กเรียนรู้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในงานช่างไม้ เช่น  การขันน็อต ไขควง เป็นต้น
  3. ของเล่นเสริมบทบาทสมมติ ได้แก่ ชุดสร้างเมือง ซึ่งเป็นการเล่นที่สะท้อนความคิด  ความเข้าใจของเด็กในสิ่งที่กำลังเรียนรู้   รวมทั้งช่วยให้เด็กเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและผู้อื่นในชีวิตประจำวันและสร้างพื้นฐานการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วย

 ฝากข้อคิด   แม้ของเล่นกับเด็กจะเป็นของคู่กันเพื่อสร้างความสนุกสนานและพัฒนาทักษะการเรียนรู้และพัฒนาการในด้านต่าง ๆแต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่า  ของเล่นที่ดีที่สุดของลูก คืออะไร  คำตอบคือ  คุณพ่อคุณแม่นั่นเอง !!! สิ่งสำคัญการเล่นของลูกนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ร่วมเล่นกับลูกด้วย  การได้พูดคุย  ซักถาม  โอบกอด  ยิ้มให้กัน  จะสร้างความสุขให้แก่ลูกได้อย่างมาก   อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่เองก็จะได้เห็นพัฒนาการของเจ้าตัวน้อย  สอนและชี้ชวนให้ลูกคิดและทำ  ฝึกฝนความมั่นใจ  แต่อย่าลืมนะคะหากลูกทำสำเร็จ  เช่น  สร้างบ้านด้วยตัวต่อ  ระบายสีรูปจนเสร็จ   คุณพ่อคุณแม่ต้องชมเชยลูกทันทีที่ลูกทำสำเร็จนะคะ  เพราะจะเป็นกำลังใจและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ลูก ถือเป็นการปูพื้นฐานทักษะการคิดและความมั่นใจในตนเองให้ลูกต่อไปค่ะ

ขอบคุณ
ที่มา :theasianparent  thailand

 ของเล่นเด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น