วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ตัวอย่างเก่มง่ายๆสำหรับเด็กที่กำลังจะถึง 1 ปี

ตัวอย่างเก่มง่ายๆสำหรับเด็กที่กำลังจะถึง 1 ปี (Chapter 1)

พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามรถเล่นกับลูกๆได้ง่ายๆ และมีประสิทธิภาพมาก

เกมจ๊ะเอ๋ 
   เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักการค้นหาวัตถุที่หายไป ตลอดทั้งฝึกความสนใจ ,สมาธิในการฟังจังหวะของเสียง และยังเป็นการเสริมสร้างปฎิสัมพันธ์ ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ด้วย โดยผู้ใหญ่อาจใช้มือ , ผ้า หรือกระดาษปิดหน้าตัวเอง หรือปิดหน้าเด็ก และเมื่อเปิดมือ ผ้า หรือกระดาษออกพร้อมกับพูดคำว่า “จ๊ะเอ๋” ซึ่งน้ำเสียงที่ใช้ควรจะเร้าอารมณ์เด็กให้เกิดความสนุกสนานด้วย ซึ่งเด็กจะมองหาหน้าผู้ใหญ่ที่หายไปในขณะเล่น

เกมปูไต่
   เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กได้รับการฟังเสียง ฝึกความสนใจ มีการจับจ้องมองหน้าแม่ ตลอดทั้งได้รับรู้ถึงการสัมผัสจากวัตถุที่มีความแตกต่างกันของพื้นผิว สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก รวมถึงพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีของเด็กด้วย โดยผู้ใหญ่ใช้ปลายนิ้ว หรือของเล่น หรือวัสดุที่มีพื้นผิวต่าง ๆ กัน เช่น ผ้า , ฟองน้ำ , ตุ๊กตายางไล้ไปบนผิวเด็กในทุกจุดของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ขณะเล่นเกมผู้ใหญ่ควรพูดคุย หัวเราะ และยิ้ม สร้างบรรยากาศให้เด็กสนุกสนานไปด้วย ตลอดทั้งจุดต่าง ๆ ที่ลูบไล้ / สัมผัสไปบนผิวเด็ก ควรบอกให้เด็กได้รับรู้ด้วย เช่น “แม่กำลังลูบไล้มือของลูกนะ” อาจร้องเพลงขณะเล่นปูไต่ด้วยก็ได้

เกมจับปูดำ
   เกมนี้เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือในการเปิด – ปิดมือหรือกำ – แบมือ ตลอดทั้งเด็กเริ่มสามารถเลียนแบบท่าทางกำมือ แบมือจากพ่อแม่ในขณะเล่นเกมนี้ โดยขณะเล่นผู้ใหญ่ควรร้องเพลง “จับปูดำขย้ำปูนา จับปูม้า มาคว้าปูทะเล”ร่วมด้วย เด็กจะเกิดความสนุกสนาน และสร้างเสริมการมี ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย รวมทั้งเป็นการฝึกการฟัง ความสนใจ และสมาธิให้กับเด็กอีกด้วย

เกมตบมือเปาะแปะ
   เกมนี้เพื่อฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมือทั้ง 2 ข้าง และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในขณะเล่นด้วย ตลอดทั้งให้เด็กฝึกฟังจังหวะในขณะตบมือ และเพิ่มความสนุกสนานให้กับเด็กอีกด้วย โดยผู้ใหญ่จับมือเด็กมาตบมือกันหรือ เด็กตบมือเอง เมื่อผู้ใหญ่กระตุ้นให้เด็กทำตาม อาจใช้คำกลอน หรือ เพลงที่เกี่ยวข้องกับการตบมือมาประกอบด้วยก็ได้

เกมค้นหาของเล่น
   เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กได้รู้จักใช้ความคิดในการแก้ปัญหาอย่างง่าย ในการค้นหาของเล่น ซึ่งผู้ใหญ่อาจช่วยชี้แนะได้บ้าง เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกถึงความสำเร็จในการทำงาน ตลอดทั้งเด็กได้รับการฝึกประสบการณ์เรื่องการคงอยู่ของวัตถุ (Object Permanent) โดยผู้ใหญ่ใช้ผ้าหรือกระดาษปิดของเล่นในขณะที่เด็กเล่นอยู่ อาจจะปิดบางส่วน หรือปิดทั้งหมดของของเล่นก็ได้ ซึ่งเด็กจะพยายามค้นหาของเล่นโดยการดึงผ้า หรือกระดาษออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น