วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561

การให้นมผสม

     คุณแม่บางคนไม่สามารถจะให้นมบุตรได้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุต่าง ๆ เช่น เมื่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน หรือแม่เป็นโรคบางชนิด หรืออาจจะมีความผิดปกติของหัวนม เช่น
–หัวนมแยกเป็น 2 แฉก
–หัวนมแบน
–หัวนมบอด
–หัวนมบุ๋ม
กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ จึงจำเป็นต้องเลี้ยงทารกด้วยนมผสม

การเตรียมนมผสม
  –ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมนมผสม
  –เทน้ำที่ต้มเดือดแล้วใส่ในขวดที่ได้ทำความสะอาดแล้ว ตามจำนวนที่ต้องการให้น้ำอุ่น ๆ พอควร
  –เติมนมลงไปตามจำนวนข้อที่กำหนดแล้วปิดปากขวดด้วยจุกและฝาขวด เขย่าให้นมละลายเวลาผสมนม ควรผสมให้มากกว่าจำนวนที่เด็กกินได้เล็กน้อย แล้วทิ้งส่วนที่เหลือไปดีกว่าที่จะผสมไม่พอแล้ว ต้องผสมเพิ่มเติมภายหลัง เมื่อเด็กรับประทานเสร็จแล้วควรล้างขวดนมทันที หรือแช่น้ำไว้ก่อน การตั้งทิ้งไว้จะทำให้มีคราบนมจับและทำความสะอาดได้ยาก

วิธีให้นมผสม
  –ล้างมือให้สะอาดก่อนให้นมลูกทุกครั้ง
  –อุ้มเด็กให้ศีรษะอยู่ตรงรอยพับข้อศอก ฝ่ามือข้างเดียวกันนั้นรองรับที่ก้นเด็ก ให้ลำตัวเด็กทอดอยู่ที่แขนของมารดา อุ้มให้ศีรษะเด็กสูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ลักษณะการอุ้มต้องกระชับ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย
  –ควรตรวจอุณหภูมิของนมที่เตรียมมานั้นก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้นมร้อนเกินไป โดยหยดนมลงบนหลังมือสัก 2-3 หยด
  –น้ำนมที่ให้ทารกดูดนั้นไม่ควรร้อนหรือเย็นเกินไป
  –เอียงขวดให้นมอยู่ในระดับที่เต็มหัวนมเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กดูดอากาศเข้าไป
  –อย่าให้เด็กใช้มือจับหัวนม หรือทิ้งเด็กให้ดูดขวดโดยไม่คอยเฝ้าดูแล
  –ถ้าเด็กดื่มไม่หมด นมในขวดที่เหลือให้เททิ้งอย่าเก็บไว้ให้ดูดอีกในครั้งต่อไป
  –หลังจากให้นมแล้วจับให้เรอโดยให้นั่ง แล้วใช้มือลูบหลังหรือตบหลังเบา ๆ ในช่วงเด็กยังเล็ก ๆ อยู่ แต่เมื่อลูกโตขึ้น คอเริ่มแข็งสามารถจับเรอโดยวิธีพาดบ่าแล้วลูบหลังเบา ๆ ได้เช่นกัน

วิธีทำความสะอาดขวดนม และจุกนม
  –ล้างขวดนมด้วยแปรงและน้ำยาล้างขวดนม ล้างจุกนมทั้งภายในและภายนอกให้สะอาด เช่นเดียวกันและอย่าลืมแปรงบริเวณคอขวดกับฝาปิดขวดด้วย
  –วางขวดนมและฝาขวดนมลงในหม้อต้มน้ำต้มจนเดือด โดยต้มขวดนมนาน 10 นาที แยกต้มจุกนมเพียง 5 นาที หรือนึ่งด้วยเครื่องนึ่งขวดนมด้วยไอน้ำ นาน 20 นาที หลังน้ำเดือด

ข้อควรคำนึงในการให้นมแม่หรือนมผสม
  1.เวลา เวลาที่ให้นมควรเว้นระยะระหว่างมื้อให้พอดีกับความต้องการของเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปจะเว้นระยะ 3-4 ชั่วโมง ต่อ 1 มื้อ ในเด็กแรกเกิด เมื่อโตขึ้นก็เว้นระยะระหว่างมื้อมากขึ้นตามความต้องการของเด็ก เด็กบางคนอาจจะหิวก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนด ขึ้นอยู่กับความจุของกระเพาะเด็กที่แตกต่างกันแต่ปกติกระเพาะเด็กจะได้ประมาณ 50-60 ซี.ซี. และขึ้นอยู่กับมื้อก่อนหน้านั้นว่าเด็กดูดนมได้มากหรือน้อย อิ่มหรือไม่อิ่มด้วย
  2.วิธีการให้นมเด็ก ไม่ว่าจะให้นมแม่หรือนมผสม ควรจะอุ้มให้ถูกวี ให้ศีรษะเด็กอยู่ตรงรอยพับของข้อศอกของลำแขนข้างเดียวกันทอดไปตามลำตัวเด็ก และมือข้างเดียวกันนั้นประคองที่ก้นเด็ก ให้หัวเด็กอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย เพื่อให้นมไหลลงสู่กระเพาะสะดวก มืออีกข้างที่ถือขวดนมในกรณีให้นมผสมต้องเอียงขวดประมาณ 45 องศา และให้มีนมเต็มคอขวดประมาณ 45 องศา และให้มีนมเต็มคอขวดเสมอ
  3.การให้เด็กเรอ ควรทำทุกครั้งหลังให้นมเด็กไม่ว่านมแม่หรือนมผสม ไม่ควรลืมเพราะทำให้เด็กรู้สึกสบาย ไม่แน่นท้องเป็นการช่วยไล่ลมออกจากท้องเด็ก

การทำให้เด็กเรอ
 หลังจากเด็กดูดนมแล้ว ไม่ว่าเป็นนมมารดาหรือนมผสม ควรระวังให้เด็กเรอทุกครั้ง จุดประสงค์ในการทำให้เด็กเรอก็เพื่อไล่ลมออกจากท้องเด็ก เด็กจะได้ไม่อึดอัดหรือท้องอืด ควรทำเป็นระยะ ๆ ขณะเด็กดูดนมและหลังจากให้นมเสร็จแล้ว ทั้งนี้ อาจทำได้หลายวิธี คือ
  1.อุ้มเด็กขึ้นพาดบ่าให้ศีรษะวางบนไหล่ ตะแคงหน้าออกจากตัวมารดาหรือผู้อุ้ม หรืออาจให้คางเกยบนไหล่ แล้วลูบหลังเบา ๆ จะช่วยไล่ลมที่เด็กดูดเข้าไปขณะดูดนมออกมาได้ ก่อนอุ้มเด็กขึ้นพาดบ่า ควรหาผ้ารองที่บ่าเสียก่อนเพราะบางครั้งเด็กที่ดูดนมมาก ๆ อาจจะสำรอกเอานมที่ยังไม่ได้ย่อยออกมาเล็กน้อย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ แต่จะทำให้เลอะเทอะเสื้อผ้าผู้อุ้มเด็กได้
  2.จับเด็กนั่งหลังตรง มือข้างหนึ่งพยุงศีรษะเด็กบริเวณคางและอก มืออีกข้างลูบหลังแต่เบา ๆ จนกว่าเด็กจะเรอ ระวังมือที่พยุงศีรษะและอกเด็ก ต้องจับให้ถนัด อย่าให้เด็กหลุดมือ และอย่ารัดตรงหน้าอกแน่น จะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดไม่สบาย และสำรอกเอานมออกมาได้

น้ำดื่มสำหรับเด็ก
 เด็กจะได้รับน้ำพร้อมกับนมที่กิน ถ้าเด็กกินนมได้เพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องบังคับให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ นอกจากให้ตามหลังกินนม 2-3 อึก เพื่อล้างคราบนมในปากก็พอแล้ว เพื่อไม่ให้เด็กอิ่มน้ำแล้วทานนมได้น้อยลง น้ำที่ให้ควรเป็นน้ำต้มสุกที่ไม่ร้อน


ดูแลเจ้าตัวเล็ก
คลินิกเด็ก ดอท คอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น