วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

อุปกรณ์ของเล่นและเกมต่าง ๆ สำหรับเด็กวัย 1 – 3 ปี

เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษวัย 1 – 3 ปี

     1. บล็อกขนาดต่าง ๆ ประมาณ 5-6 ชิ้น อาจทำด้วยไม้ , พลาสติก หรือกระดาษแข็ง หรือเครื่องเล่น Lego หรืออาจใช้กล่องสบู่ ,กล่องนมแทน ซึ่งสามารถวางต่อกัน หรือวางซ้อนกัน เพื่อฝึกทักษะการจับวาง , การวางซ้อน , การวางเรียง ฝึกทักษะการใช้มือ และตา ประสานกัน , ฝึกการกะระยะ. ฝึกการสังเกต ฝึกความคิดเปรียบเทียบขนาดต่าง ๆ ของวัตถุ
      2. กระดาน ค้อนตอก อาจทำด้วยไม้ หรือพลาสติกเพื่อฝึกทักษะการใช้มือ ,ข้อมือ ,และท่อนแขน ตลอดทั้งการทำงานประสานงานกันระหว่างมือกับตา ฝึกการกะระยะ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการใช้อุปกรณ์ของเล่นในการตอก
     3. ของเล่นเป็นชิ้นที่มีขนาดต่างๆกัน ใหญ่บ้างเล็กบ้าง หรือยาวบ้างสั้นบ้าง , อาจทำด้วยไม้หรือ พลาสติก เพื่อฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อ มือ ,สังเกตรูปร่าง และขนาด และรู้จักการเรียงขนาดเป็นระบบ เช่น เรียงตามลำดับจากเล็กไปใหญ่ หรือจากสั้นไปยาวโดยเด็กสามารถเรียนรู้การจัดวางรูป ขนาดเป็นชั้นต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
     4. ของเล่นที่ทำให้เกิดเสียง เช่น กล่องดนตรี , ของเล่นที่จับเขย่า , เคาะมีเสียง หรือ เครื่องดนตรีประเภทKeyboard ,กรับพวง ฯลฯ เพื่อฝึกความสนใจฟังเสียงต่าง ๆ จากเครื่องดนตรี และสนุกสนาน ฝึกสมาธิและความสนใจ ตลอดทั้งฝึกการใช้มือ นิ้วมือ ในการกด , เคาะ หรือตี
     5.บอลผ้า / ลูกบอลพลาสติกยาง หรือแป้นหลักใส่ห่วง เพื่อฝึกการกะระยะใช้สายตาประสานกับ มือ – แขน ในการโยน, กลิ้ง , ปา ลงเป้าหมาย (อาจเป็นบุคคล หรือ ตะกร้า หรือ ลัง ) ได้คล่องแคล่ว แม่นยำ
     6.ของลากจูง เช่น สัตว์ต่าง ๆ , รถ ,เรือ ,รถไฟ มีเชือกร้อยให้เด็กลากจูง เพื่อฝึกความคล่องแคล่วของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ในการเดินหรือวิ่งลากจูงของเล่นไป-มาอาจจะเคลื่อนไหวช้า – เร็ว แล้วแต่ความสามารถและความสนใจของเด็กแต่ละคน
     7.อุปกรณ์เล่นทราย เช่น พลั่ว ,ช้อน ,ถังพลาสติก ใช้เล่นกับทราย หรือ ข้าวสารย้อมสี หรือ เม็ดถั่วต่าง ๆ เพื่อฝึกการใช้มือ,นิ้วมือ ,แขน และการทำงานประสานกันระหว่างมือ และ ตา ตลอดทั้งทักษะทางสังคมในการแบ่งปัน การให้ – รับ (Turn – Taking) ระหว่างบุคคลอื่นอาจดัดแปลงใช้กับอุปกรณ์ในครัวเรือนได้เช่น ช้อน, จาน, ถ้วย
     8. หนังสือรูปภาพ อาจทำด้วยกระดาษแข็งอย่างดี ,ทำด้วยผ้า , ทำด้วยพลาสติกรวมทั้ง โปสเตอร์ภาพสัตว์ต่าง ๆ และอื่น ๆเพื่อฝึกการใช้มือ นิ้วมือ ข้อมือ ในการพลิกหน้าหนังสือ และใช้นิ้วชี้รูปภาพต่าง ๆ ตลอดทั้งทักษะด้านความเข้าใจภาษา และการพูด
     9. ภาพตัดต่อ (Jigsaw) ควรมีจำนวน 3 – 6 ชิ้น อาจทำด้วยพลาสติก ,ไม้ , กระดาษแข็งอย่างดีเพื่อฝึกให้เด็กสังเกต , เปรียบเทียบ ฝึกการคิดแบบบูรณาการ(ภาพรวม) ,ฝึกการจำ โดยการนำชิ้นส่วนของภาพมาต่อเรียงกัน เพื่อเกิดภาพได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เสริมสร้างความรู้สึกทีดีต่อตัวเอง(Self – esteem)
     10. สีเทียน , สีเมจิกแท่งใหญ่ ขีดเขียนบนกระดาน หรือกระดาษเพื่อใช้ขีดเขียน ในลักษณะที่ไม่เป็นรูปร่างใด ๆ ทั้งสิ้น เด็กจะขีดเขียนเอง และสร้างสรรค์จินตนาการของตัวเอง โดยเด็กเริ่มจับดินสอในลักษณะของมือกำ ต่อมาจึงจับในลักษณะของการใช้นิ้วมือได้ในที่สุด และเริ่มเขียนแบบมีรูปร่างทางเรขาคณิตมากขึ้น คือ ขีดเส้นตรง และวงกลม เพื่อฝึกทักษะการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อนิ้วมือ ข้อมือ และท่อนแขน ตลอดทั้ง ฝึกการคิดจินตนาการต่าง ๆ
     11.ของเล่น Pop – Up ที่เป็นรูปสัตว์ เพื่อฝึกการทำงานของนิ้วมือ , มือ ในการกด ,หมุน ,บิด , ดึง ตลอดทั้งสร้างเสริมทักษะของพัฒนาการทางภาษา ในด้านความเข้าใจ และการพูด รวมทั้งสร้างความสนใจ และสร้างสมาธิ
     12. เกมวาดรูปจากนิ้วมือ (Finger Painting) อาจใช้สีน้ำ , สีโปสเตอร์ หรือกาวน้ำ / แป้งเปียกผสมสี เกมนี้เพื่อกระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ นิ้วมือ , มือ ตลอดจนการประสานงานของตาและมือ สามารถกระตุ้นความสนใจ,สร้างสมาธิในขณะทำกิจกรรม และฝึกงานด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยให้เด็กใช้นิ้ว หรือมือในการละเลงสีน้ำ ,สีโปสเตอร์ ,สีแป้งเปียก ลงบนกระดาษหรือกระดาน
     13. เกมจำจี้มะเขือเปาะ เพื่อฝึกการสร้างความสัมพันธ์ กับบุคคลอื่น ๆ โดยผู้ใหญ่ หรือเด็กจะเป็นผู้นำเกม ใช้นิ้วจิ้มลงบนนิ้วมือของผู้เล่นทีละนิ้ว พร้อมกับร้องเพลง “จ้ำจี้มะเขือเปาะ” เป็นการฝึกการฟัง สร้างความสนใจ และการมีสมาธิในการเล่นกิจกรรม ตลอดทั้งได้รับการเสริมทักษะพัฒนาการด้านภาษา และรู้จักกติกาอย่างง่ายในการเล่น

หมาน้อยบล็อกหยอด


ขอบคุณ
อ้างอิง: clinicdek. com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น