วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561

ยาลดไขั

ยาลดไขั

ถาม: ยาลดไข้มีหลายชนิด จะเลือกใช้อย่างไรดี
ตอบ: ยาลดไข้ที่มีใช้กันนั้นมีตัวยาแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
     พาราเซตามอล ซึ่งถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง และมีฤทธ์ในการลดไข้ได้ดี จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป แต่ถ้าใช้เกินขนาดมากก็จะเกิดอันตรายต่อตับได้
     แอสไพลิน เดิมใช้กันมาก แต่ปัจจุบันนี้ใช้กันน้อยลง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้ในโรคบางอย่างเช่น ไข้เลือดออก,ไข้หวัดใหญ่, อีสุกอีใส เนื่องจากแอสไพลินมีผลทำให้เกร็ดเลือดแข็งตัวช้าทำให้มีเลือดออกง่าย, อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และ พบว่าแอสไพลินนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดไรน์ซินโดรม (Reye’s Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่มีอันตรายและอัตราตายสูง จากภาวะสมองบวม และตับ,ไตวาย
    ไอบลูโปรเฟน เป็นยาที่เริ่มมีความนิยมใช้กันมากขึ้น เนื่องจากมีฤทธ์ในการลดไข้ได้ดีและไม่ปรากฏรายงานการเกิดไรน์ซินโดรมเหมือนอย่างแอสไพลิน และไม่มีผลต่อตับมากนัก แต่มีข้อควรระวังในเรื่องการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และ อาจมีผลต่อการทำงานของไตในกรณีที่เด็กมีภาวะขาดน้ำค่อนข้างมาก ทำให้เกิดไตวายแบบเฉียบพลันได้
    ดังนั้นการใช้ยาลดไข้จึงควรจะรู้ถึง ขนาดของยาที่ใช้กับลูก ซึ่งจะคำนวณตามน้ำหนักตัว, ระยะเวลาห่างที่จะให้ยาซ้ำได้, และคอยดูแลให้ลูกได้ดื่มน้ำได้เพียงพอ ไม่มีปัญหาเรื่องขาดน้ำ
    ยาลดไข้ยังมีรูปแบบการให้ได้หลายวิธี คือ แบบรับประทานซึ่งได้กล่าวไปแล้ว, แบบเหน็บก้น ซึ่งมีความสะดวกในกรณีที่เด็กทานยายากหรือมีอาเจียนมาก ในบ้านเราก็จะมียาเหน็บก้นชนิดที่เป็นยาแอสไพลิน ซึ่งจะมีผลในการลดไข้และผลข้างเคียงต่างๆเหมือนกับชนิดรับประทานเช่นกัน แต่ในต่างประเทศจะมียาเหน็บพาราเซตามอลให้เลือกใช้ได้
    สำหรับยาลดไข้ชนิดฉีดเข้ากล้ามนั้นไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก เพราะจะมีอันตรายได้หลายอย่าง ทางกุมารแพทย์ทั่วไปจึงไม่ได้ใช้กัน

ถาม: ทำไมข้างขวดยาลดไข้จึงเขียนบอกไว้ว่า ห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
ตอบ: เป็นคำเตือนทั่วไปที่ติดไว้ข้างขวดยาโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้ที่ใช้ยาได้พิจารณาไปพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้อง แต่ถ้าได้พบแพทย์แล้ว และทราบในการวินิจฉัยโรคและกำลังให้การรักษาที่ถูกต้องอยู่แล้ว การทานยาลดไข้ตามขนาดยาที่แพทย์แนะนำเกิน 5 วันก็ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด

   แต่ถึงอย่างไรก็ตามถ้าลูกยังมีไข้สูงนานหลายวัน ก็ควรจะพาลูกไปพบแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้อย่างละเอียด เพราะมีการติดเชื้อหลายชนิดที่อาจไม่มีอาการจำเพาะ ที่จะแสดงออกให้เห็นชัดเจนในช่วงวันแรกๆของการเจ็บป่วย เช่น ไข้เลือดออก แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายวันขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการต่างๆของไข้เลือดออกชัดเจนขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของผลเลือด ทำให้แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกได้ก่อนที่จะเกิดอันตรายแทรกซ้อนจากไข้เลือดออก หรือ ไข้อาจเกิดจากการติดเชื้ออย่างอื่น เช่น ทัยฟอยด์, การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ,ปอดบวม ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

ขอบคุณ ที่มา:
นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561

การให้นมผสม

     คุณแม่บางคนไม่สามารถจะให้นมบุตรได้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุต่าง ๆ เช่น เมื่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน หรือแม่เป็นโรคบางชนิด หรืออาจจะมีความผิดปกติของหัวนม เช่น
–หัวนมแยกเป็น 2 แฉก
–หัวนมแบน
–หัวนมบอด
–หัวนมบุ๋ม
กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ จึงจำเป็นต้องเลี้ยงทารกด้วยนมผสม

การเตรียมนมผสม
  –ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมนมผสม
  –เทน้ำที่ต้มเดือดแล้วใส่ในขวดที่ได้ทำความสะอาดแล้ว ตามจำนวนที่ต้องการให้น้ำอุ่น ๆ พอควร
  –เติมนมลงไปตามจำนวนข้อที่กำหนดแล้วปิดปากขวดด้วยจุกและฝาขวด เขย่าให้นมละลายเวลาผสมนม ควรผสมให้มากกว่าจำนวนที่เด็กกินได้เล็กน้อย แล้วทิ้งส่วนที่เหลือไปดีกว่าที่จะผสมไม่พอแล้ว ต้องผสมเพิ่มเติมภายหลัง เมื่อเด็กรับประทานเสร็จแล้วควรล้างขวดนมทันที หรือแช่น้ำไว้ก่อน การตั้งทิ้งไว้จะทำให้มีคราบนมจับและทำความสะอาดได้ยาก

วิธีให้นมผสม
  –ล้างมือให้สะอาดก่อนให้นมลูกทุกครั้ง
  –อุ้มเด็กให้ศีรษะอยู่ตรงรอยพับข้อศอก ฝ่ามือข้างเดียวกันนั้นรองรับที่ก้นเด็ก ให้ลำตัวเด็กทอดอยู่ที่แขนของมารดา อุ้มให้ศีรษะเด็กสูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ลักษณะการอุ้มต้องกระชับ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย
  –ควรตรวจอุณหภูมิของนมที่เตรียมมานั้นก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้นมร้อนเกินไป โดยหยดนมลงบนหลังมือสัก 2-3 หยด
  –น้ำนมที่ให้ทารกดูดนั้นไม่ควรร้อนหรือเย็นเกินไป
  –เอียงขวดให้นมอยู่ในระดับที่เต็มหัวนมเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กดูดอากาศเข้าไป
  –อย่าให้เด็กใช้มือจับหัวนม หรือทิ้งเด็กให้ดูดขวดโดยไม่คอยเฝ้าดูแล
  –ถ้าเด็กดื่มไม่หมด นมในขวดที่เหลือให้เททิ้งอย่าเก็บไว้ให้ดูดอีกในครั้งต่อไป
  –หลังจากให้นมแล้วจับให้เรอโดยให้นั่ง แล้วใช้มือลูบหลังหรือตบหลังเบา ๆ ในช่วงเด็กยังเล็ก ๆ อยู่ แต่เมื่อลูกโตขึ้น คอเริ่มแข็งสามารถจับเรอโดยวิธีพาดบ่าแล้วลูบหลังเบา ๆ ได้เช่นกัน

วิธีทำความสะอาดขวดนม และจุกนม
  –ล้างขวดนมด้วยแปรงและน้ำยาล้างขวดนม ล้างจุกนมทั้งภายในและภายนอกให้สะอาด เช่นเดียวกันและอย่าลืมแปรงบริเวณคอขวดกับฝาปิดขวดด้วย
  –วางขวดนมและฝาขวดนมลงในหม้อต้มน้ำต้มจนเดือด โดยต้มขวดนมนาน 10 นาที แยกต้มจุกนมเพียง 5 นาที หรือนึ่งด้วยเครื่องนึ่งขวดนมด้วยไอน้ำ นาน 20 นาที หลังน้ำเดือด

ข้อควรคำนึงในการให้นมแม่หรือนมผสม
  1.เวลา เวลาที่ให้นมควรเว้นระยะระหว่างมื้อให้พอดีกับความต้องการของเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปจะเว้นระยะ 3-4 ชั่วโมง ต่อ 1 มื้อ ในเด็กแรกเกิด เมื่อโตขึ้นก็เว้นระยะระหว่างมื้อมากขึ้นตามความต้องการของเด็ก เด็กบางคนอาจจะหิวก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนด ขึ้นอยู่กับความจุของกระเพาะเด็กที่แตกต่างกันแต่ปกติกระเพาะเด็กจะได้ประมาณ 50-60 ซี.ซี. และขึ้นอยู่กับมื้อก่อนหน้านั้นว่าเด็กดูดนมได้มากหรือน้อย อิ่มหรือไม่อิ่มด้วย
  2.วิธีการให้นมเด็ก ไม่ว่าจะให้นมแม่หรือนมผสม ควรจะอุ้มให้ถูกวี ให้ศีรษะเด็กอยู่ตรงรอยพับของข้อศอกของลำแขนข้างเดียวกันทอดไปตามลำตัวเด็ก และมือข้างเดียวกันนั้นประคองที่ก้นเด็ก ให้หัวเด็กอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย เพื่อให้นมไหลลงสู่กระเพาะสะดวก มืออีกข้างที่ถือขวดนมในกรณีให้นมผสมต้องเอียงขวดประมาณ 45 องศา และให้มีนมเต็มคอขวดประมาณ 45 องศา และให้มีนมเต็มคอขวดเสมอ
  3.การให้เด็กเรอ ควรทำทุกครั้งหลังให้นมเด็กไม่ว่านมแม่หรือนมผสม ไม่ควรลืมเพราะทำให้เด็กรู้สึกสบาย ไม่แน่นท้องเป็นการช่วยไล่ลมออกจากท้องเด็ก

การทำให้เด็กเรอ
 หลังจากเด็กดูดนมแล้ว ไม่ว่าเป็นนมมารดาหรือนมผสม ควรระวังให้เด็กเรอทุกครั้ง จุดประสงค์ในการทำให้เด็กเรอก็เพื่อไล่ลมออกจากท้องเด็ก เด็กจะได้ไม่อึดอัดหรือท้องอืด ควรทำเป็นระยะ ๆ ขณะเด็กดูดนมและหลังจากให้นมเสร็จแล้ว ทั้งนี้ อาจทำได้หลายวิธี คือ
  1.อุ้มเด็กขึ้นพาดบ่าให้ศีรษะวางบนไหล่ ตะแคงหน้าออกจากตัวมารดาหรือผู้อุ้ม หรืออาจให้คางเกยบนไหล่ แล้วลูบหลังเบา ๆ จะช่วยไล่ลมที่เด็กดูดเข้าไปขณะดูดนมออกมาได้ ก่อนอุ้มเด็กขึ้นพาดบ่า ควรหาผ้ารองที่บ่าเสียก่อนเพราะบางครั้งเด็กที่ดูดนมมาก ๆ อาจจะสำรอกเอานมที่ยังไม่ได้ย่อยออกมาเล็กน้อย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ แต่จะทำให้เลอะเทอะเสื้อผ้าผู้อุ้มเด็กได้
  2.จับเด็กนั่งหลังตรง มือข้างหนึ่งพยุงศีรษะเด็กบริเวณคางและอก มืออีกข้างลูบหลังแต่เบา ๆ จนกว่าเด็กจะเรอ ระวังมือที่พยุงศีรษะและอกเด็ก ต้องจับให้ถนัด อย่าให้เด็กหลุดมือ และอย่ารัดตรงหน้าอกแน่น จะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดไม่สบาย และสำรอกเอานมออกมาได้

น้ำดื่มสำหรับเด็ก
 เด็กจะได้รับน้ำพร้อมกับนมที่กิน ถ้าเด็กกินนมได้เพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องบังคับให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ นอกจากให้ตามหลังกินนม 2-3 อึก เพื่อล้างคราบนมในปากก็พอแล้ว เพื่อไม่ให้เด็กอิ่มน้ำแล้วทานนมได้น้อยลง น้ำที่ให้ควรเป็นน้ำต้มสุกที่ไม่ร้อน


ดูแลเจ้าตัวเล็ก
คลินิกเด็ก ดอท คอม

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

วิธีลดอาการสำลักในเด็ก


   เพราะว่าเด็กๆ อยู่ในช่วงของการทำความรู้จัก และเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ รอบตัว สิ่งหนึ่งที่ทารก มักทำอยู่เสมอในการสำรวจโลก ก็คือการนำของเข้าปาก และสำหรับผู้ปกครองแล้วคงไม่มีอะไรน่าหวาดหวั่น มากไปกว่าการได้เห็นลูกในวัยทารกต้องสำลัก หรือหายใจไม่ออกเนื่องจากมีเศษอาหาร หรือสิ่งของชิ้นเล็กติดคอ เพราะ ว่าเด็กไม่สามารถจะผงกศีรษะ หรือรู้จักเอาสิ่งของที่ติดอยู่ออกได้เอง นั่นจึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ที่จะทำให้หนูน้อยเกิดอาการสำลัก และขาดอากาศหายใจได้ในที่สุด
    ดังนั้น วิธีการที่ปลอดภัยที่สุดในการไม่ให้เด็กเกิดอาการสำลัก จึงต้องอยู่ที่การรู้จักป้องกัน โดยผู้ปกครองต้องหมั่นระมัดระวังสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ตั้งแต่ลืมตาตื่นไปจนถึงยามหลับเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น ควรหมั่นดูแลว่าที่นอนในเปลนั้นปูไว้เรียบแน่นดีแล้ว ทั้งไม่ควรนำเอาหมอนหรือของเล่นนุ่มนิ่มใส่ลงไปในเปลมากเกินความจำเป็น
    ในกลุ่มเด็กเล็กที่เริ่มเดินวิ่งได้แล้ว เมื่อจะป้อนอาหารก็ไม่ควรให้เด็กเดิน หรือวิ่งไปกินไปทั้งที่อาหารเต็มปาก และควรตัดอาหารเป็นชิ้นเล็กให้พอดีคำ กับต้องสอนเด็กให้รู้จักเคี้ยวอาหารให้ละเอียด สำหรับอาหารที่อยู่ในกลุ่มอันตราย ได้แก่ อาหารจำพวกฮอตดอก ลูกอม ถั่ว องุ่น แครอท และข้าวโพดคั่ว เป็นต้น เพราะอาหารในกลุ่มนี้ จะหลุดเข้าไปอุดหลอดลมเด็กได้ง่าย พึงระลึกไว้เสมอว่า อาการสำลักอาหารนั้นเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย แต่สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบแล้ว พวกเขาไม่สามารถช่วยตัวเองได้ จึงต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษ.


ขอบคุณ
ไทยรัฐ
21 สิงหาคม 2548

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

ความสำคัญของวิตามิน


วิตามินเป็นสารอินทรีย์ที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับสารอาหารอื่นๆ แต่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย เช่น กระบวนการเผาผลาญอาหารเพื่อสร้างพลังงาน การเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโต การสร้างเม็ดเลือดแดง การแข็งตัวของเลือด การสร้างกระดูก การมองเห็น การทำงานของระบบประสาท และการสร้างภูมิต้านทานโรค เป็นต้น

วิตามินแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินบี1 บี2 บี3 บี5 บี6 บี9 บี12 ไบโอติน โคลีน และวิตามินซี วิตามินประเภทนี้ถูกทำลายด้วยความร้อนได้ง่าย ไม่สะสมในร่างกาย จึงต้องบริโภคอย่างสม่ำเสมอ หากร่างกายได้รับมากเกินไปจะถูกขับออกทางปัสสาวะและเหงื่อ

2. วิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค วิตามินประเภทนี้ทนความร้อนได้ดี สามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้ จึงไม่จำเป็นต้องบริโภคทุกวัน หากได้รับในปริมาณมากเกินไป จะสะสมไว้ในไขมันของร่างกายและตับ ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายได้วิตามินส่วนใหญ่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ยกเว้นบางชนิด เช่น วิตามินดี แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงต้องบริโภคจากอาหาร ร่างกายต้องการวิตามินในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละวัน หากได้รับไม่เพียงพอติดต่อกันไปนานๆ จะทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติขึ้นได้ ความต้องการวิตามินในแต่ละวัน

 The Committee on Nutritional National Research Council ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เสนอคำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณวิตามินที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน เรียกว่า Recommended Dietary Allowances เรียกย่อๆ ว่า RDA เป็นค่าที่แสดงถึงความต้องการวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่นๆ ของคนที่มีสุขภาพปกติ โดยแบ่งตามความเหมาะสมของอายุและเพศ

ค่า RDA สำหรับวิตามินและแร่ธาตุมีประโยชน์มาก เนื่องจากใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาว่าปริมาณวิตามินและแร่ธาตุในอาหารที่ได้รับเพียงพอหรือไม่ และในกรณีที่จำเป็นต้องเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุในรูปของอาหารเสริม ควรพิจารณาให้อีกเท่าไร

 Megavitamin Therapy
คือการใช้วิตามินในปริมาณตั้งแต่ 10 เท่าของ RDA ขึ้นไป การใช้วิตามินในปริมาณสูงๆ มาจากแนวความคิดที่ว่า แค่ปริมาณน้อยยังให้ประโยชน์มาก ยิ่งเพิ่มปริมาณก็น่าจะเพิ่มประโยชน์เป็นทวีคูณ ผู้ใช้มักมีความหวังว่าวิตามินจะช่วยรักษาความเจ็บป่วยที่แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลชะงัด เช่น โรคสมอง โรคมะเร็ง หอบหืด ปวดข้อ นอนไม่หลับ สิว และการชะลอความแก่ เป็นต้น

มีการกล่าวอ้างผลการทดลองในสัตว์ การศึกษาในกลุ่มคนจำนวนไม่มาก โดยใช้การทดลองที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีการควบคุมที่ดีพอ ทำให้การแปรผลมีความเอนเอียงได้ รวมถึงการกล่าวอ้างประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ป่วยที่หายจากโรคต่างๆ

 อย่างไรก็ตาม การใช้วิตามินในปริมาณสูงกว่าค่า RDA มากๆ ควรใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น และยังต้องคำนึงถึงผลข้างเคียง และพิษของวิตามินที่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับคนที่มีสุขภาพปกติและบริโภคอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับวิตามินและแร่ธาตุเสริมอีก

 หลักเกณฑ์การให้วิตามินเสริม
      1.ได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ อาจเนื่องมาจากความยากจน การจำกัดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก การกินเจหรือมังสวิรัติ การเบื่ออาหารที่มักพบในผู้สูงอายุ การรับประทานอาหารประเภทเดียวนานๆ หรือรับประทานอาหารสำเร็จรูปบ่อยๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง

การขาดวิตามินเอ บี1 และบี2 มักเกี่ยวข้องกับความยากจนและขาดแคลนอาหารที่มีคุณค่า ส่วนอาหารที่ผู้สูงอายุรับประทานมักจะขาดวิตามินเอ ซี บี1 และโฟเลต

     2.ภาวะการดูดซึมสารอาหารบกพร่อง โรคที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพในระบบทางเดินอาหารมีผลต่อการดูดซึมวิตามิน ความผิดปกติในการหลั่งหรือผลิตน้ำดีทำให้การดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันบกพร่อง โรคตับอ่อนมีผลต่อการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันและวิตามินบี12 เด็กคลอดก่อนกำหนดและเด็กน้ำหนักแรกคลอดต่ำจะดูดซึมวิตามินอีได้น้อย การอักเสบเรื้อรังของสำไส้จะทำให้ขาดวิตามินบี12 กรดโฟลิก และวิตามินที่ละลายในไขมัน

การใช้ยาบางชนิดก็มีผลต่อการดูดซึมวิตามิน ผู้ที่ใช้ยาต่อไปนี้เป็นประจำควรเสริมวิตามิน ได้แก่ ยาลดระดับไขมันในเลือด ยาระบายพาราฟิน ยาลดกรดที่ผสมเกลืออะลูมิเนียม เป็นต้น

     3.ความบกพร่องในการนำวิตามินไปใช้ประโยชน์ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความบกพร่องในการใช้วิตามินซี ผู้สูงอายุไม่สามารถใช้วิตามินบี1 ได้เท่าที่ควร โรคมะเร็งทำให้เกิดการขาดวิตามินได้ โรคตับทำให้เมตาบอลิซึ่มของกรดโฟลิกและวิตามินเอเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีโรคทางพันธุกรรมซึ่งทำให้เมตาบอลิซึ่มของวิตามินบางชนิดบกพร่อง แต่โรคดังกล่าวพบได้น้อยมาก

     4.การขับวิตามินออกจากร่างกายเพิ่มขึ้น อาจเนื่องมาจากการเป็นไข้เรื้อรัง และสภาวะที่ทำให้เกิดการสลายของเนื้อเยื่อ เช่น วัณโรคทำให้ร่างกายขับวิตามินบี2 และวิตามินเอมากขึ้น การฟอกไตเพิ่มการสูญเสียวิตามินซีและบี1 โรคไตเรื้อรังทำให้มีการสูญเสียวิตามินเอและดี

     5.การทำลายวิตามินเพิ่มขึ้น ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงในการทำลายหรือลดปริมาณวิตามิน ผู้ป่วยโรคไตมีผลข้างเคียงในการทำลายหรือลดปริมาณวิตามินบี6 เนื่องจากสารที่คั่งค้างอยู่ในเลือดสามารถทำลายวิตามินบี6 ได้ นอกจากนี้การดื่มสุราและการสูบบุหรี่ก็ทำลายวิตามินเช่นกัน

     6.ความต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นไข้ การผ่าตัด การติดเชื้อ ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น เพื่อนำมาซ่อมแซมเนื้อเยื่อและรักษาภาวะสมดุลในเลือด การออกกำลังกายเพิ่มจะมีความต้องการวิตามินบี2 และบี1 การอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้อนเกินไปจะเพิ่มความต้องการวิตามินซี หรือในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทุกชนิดเพิ่มขึ้น รวมทั้งวิตามิน

ขอบคุณ
เอมอร คชเสนี
สภาพสุข สุขภาพ
ผู้จัดการ
29 มิถุนายน 2549

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

ความต้องการของสารไอโอดีนตอนคุณแม่ตั้งท้อง


"ไอคิวเด็กไทยต่ำกว่าระดับสากล แม่ขาดสารไอโอดีนตอนตั้งท้อง"

    นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไอโอดีนเป็นสารที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมองของเด็กทำให้เด็กมีไอคิวหรือสติปัญญาดี หากแม่ขาดสารไอโอดีนระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้ลูกปัญญาอ่อน ซึ่งสามารถเห็นอาการชัดเจนได้ ประมาณร้อยละ 1-10 ของเด็กที่เป็นเท่านั้น อีกร้อยละ 5-30 จะเกิดปัญญาทึบ ที่เหลืออีกร้อยละ 70 จะออกมาในรูปของการเฉื่อยชา เกียจคร้าน อ่อนแรง จากการสำรวจการใช้เกลือครั้งล่าสุดในปี 2549 พบมีครัวเรือนเพียงร้อยละ 59 ใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงอาหาร ในจำนวนนี้ใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพคือ มีสารไอโอดีนในปริมาณกำหนดคือ 30 ส่วนในเกลือ 1 ล้านส่วนหรือ 30 พีพีเอ็ม (30 ppm) เพียงร้อยละ 54 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จึงทำให้หญิงตั้งครรภ์ไทยร้อยละ 50 หรือประมาณ 400,000 คน ได้รับไอโอดีนไม่ เพียงพอ เสี่ยงคลอดลูกเป็นเอ๋อ หรือปัญญาอ่อน “ขณะนี้ค่าเฉลี่ยระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวเด็กสากลกำหนดไว้คือ 90-110 จุด แต่ไอคิวของเด็กไทยประเมินในรอบ 5 ปีมานี้ได้แค่ 88 จุด จึงน่าห่วงมาก หากดูในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ขาดไอโอดีนแล้ว ประเทศไทยจะมีเด็กคลอดใหม่เสี่ยงต่อ การมีสติปัญญาด้อยหรือไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 400,000 คน” นพ.ณรงค์ศักดิ์กล่าว นพ.ณรงค์ศักดิ์กล่าวถึงสาเหตุที่เกลือเสริมไอโอดีนยังไม่ได้คุณภาพ มาจากการผลิตเกลือ ซึ่งมีผู้ผลิตเกลือจำนวนมาก ดังนั้น หากแม่บ้านจะซื้อเกลือทุกครั้ง ขอให้มั่นใจว่าเป็นเกลือเสริมไอโอดีนโดยดูที่ฉลากที่เขียนไว้บนหน้าซองว่า มีส่วนผสมของสารไอโอดีนเท่านั้น.

-----------------------------------------------------------------------
ที่มา: ไทยรัฐ
13 เมษายน 2550


วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561

วัคซีนรวม


    การตัดสินใจเพื่อเลือกใช้วัคซีนรวมแต่ละชนิดควรเป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างแพทย์และพ่อแม่ การฉีดวัคซีนแยกแต่ละชนิดทำให้เด็กจับตัวหลายครั้งหรืออาจต้องมาพบแพทย์มากครั้งขึ้น แต่เมื่อมองในเรื่องค่าใช้จ่ายอาจจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า โดยเฉพาะหากรับบริการในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งจะไม่คิดค่าใช้จ่ายอาจจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า โดยเฉพาะหากรับบริการในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งจะไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับวัคซีนพื้นฐาน

    อย่างไรก็ตาม วัคซีนรวมกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากความสะดวกและช่วยให้เด็กเจ็บตัวน้อยครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและในบางครั้งอาจได้วัคซีนบางชนิดโดยไม่จำเป็น ในปัจจุบันวัคซีนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดเชื้อเป็นอย่างมาก เนื่องจากเชื้อที่ทำให้เกิดโรคมีการดื้อต่อยาด้านจุลชีพที่ใช้ในการรักษา ขณะเดียวกันการพัฒนายาด้านจุลชีพชนิดใหม่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ วัคซีนจึงได้รับความสนใจและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง วัคซีนที่ใช้แพร่หลายในเด็กมีมากกว่าสิบชนิด และวัคซีนบางชนิดยังต้องฉีดหลายครั้ง

    ดังนั้นการให้วัคซีนแต่ละชนิดในเด็กคนหนึ่งจนครบกำหนด จะต้องฉีดจำนวนหลายสิบครั้ง จึงได้มีการพัฒนาเพื่อรวมวัคซีนหลายชนิดเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถลดจำนวนการฉีดและจำนวนครั้งที่มาพบแพทย์ลงได้ โดยเริ่มจากการรวมวัคซีน 2-3 ชนิดเข้าไว้ด้วยกันก่อน ต่อมาจึงทำการรวมวัคซีน 4, 5 และ 6 ชนิดตามมา การเลือกใช้วัคซีนรวมมีข้อควรคำนึงหลายประการ จึงควรพิจารณาข้อมูลให้ถ่องแท้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อดีของวัคซีนรวม
1. สามารถลดจำนวนครั้งของการฉีด ทำให้เด็กกลัวน้อยลงเพราะเจ็บครั้งเดียวได้รับวัคซีนหลายชนิด
2. สามารถลดจำนวนครั้งของการมาพบแพทย์ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเป็นการประหยัดเวลาของผู้ปกครอง
3. ความร่วมมือในการมารับวัคซีนดีขึ้น ทำให้เด็กได้รับวัคซีนครบตามกำหนดมากขึ้น
4. ความยุ่งยากในการฉีดวัคซีนลดลง

ตัวอย่างวัคซีนรวมที่มีใช้ในปัจจุบัน
1.คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดเต็มเซลล์ (DTwP)
2.คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดเต็มเซลล์ ฮิบ ตับอักเสบบี (DTwP+HIB+HBV) ชื่อวัคซีนที่มีจำหน่ายในไทยคือ Quinvaxem
3.ตับอักเสบเอ+ตับอักเสบบี (HAV+HBV) ชื่อวัคซีนที่มีจำหน่ายในไทยคือ Twinrix
4.คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ (DTaP+IPV) ชื่อวัคซีนที่มีจำหน่ายในไทยคือ Tetraxim, Infanrix-IPV
5.คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไม่มีเซลล์ โปลิโอชนิดฉีด ฮิบ (DTaP+IPV+HIB) ชื่อวัคซีนที่มีจำหน่ายในไทยคือ Pentaxim, Pediacel, Infanrix-IPV-HIB
6.คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไม่มีเซลล์ โปลิโอชนิดฉีด ฮิบ ตับอักเสบบี (DTaP+IPV+HIB+HBV) ชื่อวัคซีนที่มีจำหน่ายในไทยคือ Hexaxim, Infanrix-Hexa
7.คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไม่มีเซลล์ (dTap or Tdap) ชื่อวัคซีนที่มีจำหน่ายในไทยคือ Boostrix, Adacel
8.คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไม่มีเซลล์ โปลิโอชนิดฉีด (dTap or Tdap + IPV) ชื่อวัคซีนที่มีจำหน่ายในไทยคือ Boostrix-IPV, Adacel-Polio
9.คอตีบ บาดทะยัก (dT ผู้ใหญ่)
10.หัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR)

ข้อจำกัดของวัคซีนรวม
1. การให้วัคซีนหลายชนิดในเวลาเดียวกัน อาจก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคบางชนิดต่ำกว่าวัคซีนแบบแยกฉีด อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นก็ยังสูงเพียงพอในการป้องกันโรคได้
2. ปฏิกิริยาจากวัคซีนอาจพบเพิ่มขึ้น แต่ไม่เสมอไป
3. วัคซีนมีราคาแพง
4. อาจทำให้เด็กได้รับวัคซีนบางอย่างมากเกินไป เช่น ถ้าใช้วัคซีนรวม 6 ชนิดที่มีวัคซีนตับอักเสบบีรวมอยู่ด้วย และฉีดให้เด็กที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน จะทำให้เด็กได้รับวัคซีนตับอักเสบบีเกินหนึ่งครั้งที่อายุ 4 เดือน แต่ไม่มีผลเสียใด ๆ นอกจากทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น
5. อาจก่อให้เกิดความสับสน กรณีใช้วัคซีนจากหลายบริษัท


ขอบคุณ
ที่มา: คลินิกเด็ก ดอท คอม

จาก หนังสือ ” วัคซีน….น่ารู้”
สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน (สิงหาคม 2558) โดย นพ. ประสงค์ พฤกษานานนท์

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

อุปกรณ์ของเล่นและเกมต่าง ๆ สำหรับเด็กวัย 1 – 3 ปี

เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษวัย 1 – 3 ปี

     1. บล็อกขนาดต่าง ๆ ประมาณ 5-6 ชิ้น อาจทำด้วยไม้ , พลาสติก หรือกระดาษแข็ง หรือเครื่องเล่น Lego หรืออาจใช้กล่องสบู่ ,กล่องนมแทน ซึ่งสามารถวางต่อกัน หรือวางซ้อนกัน เพื่อฝึกทักษะการจับวาง , การวางซ้อน , การวางเรียง ฝึกทักษะการใช้มือ และตา ประสานกัน , ฝึกการกะระยะ. ฝึกการสังเกต ฝึกความคิดเปรียบเทียบขนาดต่าง ๆ ของวัตถุ
      2. กระดาน ค้อนตอก อาจทำด้วยไม้ หรือพลาสติกเพื่อฝึกทักษะการใช้มือ ,ข้อมือ ,และท่อนแขน ตลอดทั้งการทำงานประสานงานกันระหว่างมือกับตา ฝึกการกะระยะ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการใช้อุปกรณ์ของเล่นในการตอก
     3. ของเล่นเป็นชิ้นที่มีขนาดต่างๆกัน ใหญ่บ้างเล็กบ้าง หรือยาวบ้างสั้นบ้าง , อาจทำด้วยไม้หรือ พลาสติก เพื่อฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อ มือ ,สังเกตรูปร่าง และขนาด และรู้จักการเรียงขนาดเป็นระบบ เช่น เรียงตามลำดับจากเล็กไปใหญ่ หรือจากสั้นไปยาวโดยเด็กสามารถเรียนรู้การจัดวางรูป ขนาดเป็นชั้นต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
     4. ของเล่นที่ทำให้เกิดเสียง เช่น กล่องดนตรี , ของเล่นที่จับเขย่า , เคาะมีเสียง หรือ เครื่องดนตรีประเภทKeyboard ,กรับพวง ฯลฯ เพื่อฝึกความสนใจฟังเสียงต่าง ๆ จากเครื่องดนตรี และสนุกสนาน ฝึกสมาธิและความสนใจ ตลอดทั้งฝึกการใช้มือ นิ้วมือ ในการกด , เคาะ หรือตี
     5.บอลผ้า / ลูกบอลพลาสติกยาง หรือแป้นหลักใส่ห่วง เพื่อฝึกการกะระยะใช้สายตาประสานกับ มือ – แขน ในการโยน, กลิ้ง , ปา ลงเป้าหมาย (อาจเป็นบุคคล หรือ ตะกร้า หรือ ลัง ) ได้คล่องแคล่ว แม่นยำ
     6.ของลากจูง เช่น สัตว์ต่าง ๆ , รถ ,เรือ ,รถไฟ มีเชือกร้อยให้เด็กลากจูง เพื่อฝึกความคล่องแคล่วของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ในการเดินหรือวิ่งลากจูงของเล่นไป-มาอาจจะเคลื่อนไหวช้า – เร็ว แล้วแต่ความสามารถและความสนใจของเด็กแต่ละคน
     7.อุปกรณ์เล่นทราย เช่น พลั่ว ,ช้อน ,ถังพลาสติก ใช้เล่นกับทราย หรือ ข้าวสารย้อมสี หรือ เม็ดถั่วต่าง ๆ เพื่อฝึกการใช้มือ,นิ้วมือ ,แขน และการทำงานประสานกันระหว่างมือ และ ตา ตลอดทั้งทักษะทางสังคมในการแบ่งปัน การให้ – รับ (Turn – Taking) ระหว่างบุคคลอื่นอาจดัดแปลงใช้กับอุปกรณ์ในครัวเรือนได้เช่น ช้อน, จาน, ถ้วย
     8. หนังสือรูปภาพ อาจทำด้วยกระดาษแข็งอย่างดี ,ทำด้วยผ้า , ทำด้วยพลาสติกรวมทั้ง โปสเตอร์ภาพสัตว์ต่าง ๆ และอื่น ๆเพื่อฝึกการใช้มือ นิ้วมือ ข้อมือ ในการพลิกหน้าหนังสือ และใช้นิ้วชี้รูปภาพต่าง ๆ ตลอดทั้งทักษะด้านความเข้าใจภาษา และการพูด
     9. ภาพตัดต่อ (Jigsaw) ควรมีจำนวน 3 – 6 ชิ้น อาจทำด้วยพลาสติก ,ไม้ , กระดาษแข็งอย่างดีเพื่อฝึกให้เด็กสังเกต , เปรียบเทียบ ฝึกการคิดแบบบูรณาการ(ภาพรวม) ,ฝึกการจำ โดยการนำชิ้นส่วนของภาพมาต่อเรียงกัน เพื่อเกิดภาพได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เสริมสร้างความรู้สึกทีดีต่อตัวเอง(Self – esteem)
     10. สีเทียน , สีเมจิกแท่งใหญ่ ขีดเขียนบนกระดาน หรือกระดาษเพื่อใช้ขีดเขียน ในลักษณะที่ไม่เป็นรูปร่างใด ๆ ทั้งสิ้น เด็กจะขีดเขียนเอง และสร้างสรรค์จินตนาการของตัวเอง โดยเด็กเริ่มจับดินสอในลักษณะของมือกำ ต่อมาจึงจับในลักษณะของการใช้นิ้วมือได้ในที่สุด และเริ่มเขียนแบบมีรูปร่างทางเรขาคณิตมากขึ้น คือ ขีดเส้นตรง และวงกลม เพื่อฝึกทักษะการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อนิ้วมือ ข้อมือ และท่อนแขน ตลอดทั้ง ฝึกการคิดจินตนาการต่าง ๆ
     11.ของเล่น Pop – Up ที่เป็นรูปสัตว์ เพื่อฝึกการทำงานของนิ้วมือ , มือ ในการกด ,หมุน ,บิด , ดึง ตลอดทั้งสร้างเสริมทักษะของพัฒนาการทางภาษา ในด้านความเข้าใจ และการพูด รวมทั้งสร้างความสนใจ และสร้างสมาธิ
     12. เกมวาดรูปจากนิ้วมือ (Finger Painting) อาจใช้สีน้ำ , สีโปสเตอร์ หรือกาวน้ำ / แป้งเปียกผสมสี เกมนี้เพื่อกระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ นิ้วมือ , มือ ตลอดจนการประสานงานของตาและมือ สามารถกระตุ้นความสนใจ,สร้างสมาธิในขณะทำกิจกรรม และฝึกงานด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยให้เด็กใช้นิ้ว หรือมือในการละเลงสีน้ำ ,สีโปสเตอร์ ,สีแป้งเปียก ลงบนกระดาษหรือกระดาน
     13. เกมจำจี้มะเขือเปาะ เพื่อฝึกการสร้างความสัมพันธ์ กับบุคคลอื่น ๆ โดยผู้ใหญ่ หรือเด็กจะเป็นผู้นำเกม ใช้นิ้วจิ้มลงบนนิ้วมือของผู้เล่นทีละนิ้ว พร้อมกับร้องเพลง “จ้ำจี้มะเขือเปาะ” เป็นการฝึกการฟัง สร้างความสนใจ และการมีสมาธิในการเล่นกิจกรรม ตลอดทั้งได้รับการเสริมทักษะพัฒนาการด้านภาษา และรู้จักกติกาอย่างง่ายในการเล่น

หมาน้อยบล็อกหยอด


ขอบคุณ
อ้างอิง: clinicdek. com

ฉลองเปิดเพจใหม่ ของเล่นลดราคามากมาย



เชิญติดตามไปที่ร้านค้าเพจได้เลยจ้า