วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

อยากให้ลูกเรียนว่ายน้ำ ควรจะเริ่มเมื่อไหร่ดี

อยากให้ลูกเรียนว่ายน้ำ ควรจะเริ่มเมื่อไหร่ดี

      คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน อยากให้ลูกเรียนว่ายน้ำกันตั้งแต่เล็ก โดยได้ยินเขาว่า จะทำให้เด็กแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย และได้ออกกำลังกายด้วย จึงมักจะถามคุณหมอว่า จะเรี่มเรียนว่ายน้ำเมื่ออายุเท่าไรดี แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยเห็นโฆษณา ที่มีการนำเด็กเล็กๆ มาว่ายน้ำให้ดูในทีวี ได้อย่างน่ารัก ทำให้เกิดความรู้สึกว่า อยากให้ลูกของตนว่ายน้ำได้อย่างนั้นบ้าง
   ซึ่งโดยความเห็นของกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆประเทศแล้ว (เช่น สมาคมกุมารแพทย์ของอเมริกา) ส่วนใหญ่จะแนะนำว่า ควรจะรอให้ลูก มีอายุอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป ก่อนที่จะให้เรียนว่ายน้ำอย่างจริงจัง เพราะอายุ 3 ขวบขึ้นไป เด็กจะเริ่มโตพอ ที่จะช่วยตัวเองได้บ้าง และจะสามารถทำตามที่ครูผู้สอนฝึกให้ได้ แต่ถ้าหมายถึง การลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ กับครอบครัว เพื่อการใช้เวลาร่วมกัน โดยมีคุณพ่อคุณแม่ อยู่ด้วยกับเด็กตลอดเวลานั้น สามารถทำได้ ตั้งแต่ลูกยังเล็ก อายุไม่กี่เดือน

   ข้อควรคำนึงหลายประการ ก่อนที่คุณจะตัดสินใจ ให้ลูกได้ลงเล่นน้ำ คือ
 แม้ว่าลูกอาจจะดูว่าสนุกกับการอยู่ในน้ำ (ไม่กลัวน้ำ) ขณะอยู่ในอ้อมกอดของคุณ และทำเหมือนจะเตะน้ำไปมาได้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่บางคนคิดว่า จะทำให้ลูกคุ้นกับน้ำ และจะได้มีความมั่นใจ และปลอดภัยเมื่อลูกต้องลงน้ำ แต่การที่จะให้ลูกเล็กหัดว่ายน้ำอย่างจริงจังนั้น มักจะไม่ประสบความสำเร็จ และยังอาจเป็นอันตราย เนื่องจากเด็กยังเล็กเกินไปที่จะช่วยตัวเองได้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ขณะอยู่ในน้ำ ทั้งนี้เพราะการที่ให้เด็กเรียนว่ายน้ำตั้งแต่เล็กๆ ไม่ได้ทำให้เขาโตขึ้นเป็นนักว่ายน้ำที่เก่งมากกว่าเด็กอื่น และไม่ได้ทำให้เขาเรียนรู้ เรื่องการดูแลตนเองขณะอยู่ในน้ำ จนไม่เกิดอันตรายจากการจมน้ำได้ดีกว่าเด็กคนอื่นๆ

   ในความเป็นจริงแล้ว เด็กที่คุ้นเคยกับน้ำจากการเรียนว่ายน้ำ (รวมทั้งผู้ปกครองด้วย) อาจจะมีความรู้สึกว่า ตนเองปลอดภัย และเกิดความเชื่อว่า จะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่ออยู่ในน้ำ ทำให้เกิดความประมาท และอาจเกิดอันตรายจากการจมน้ำได้ง่ายๆ เพราะแม้ว่าลูกจะว่ายน้ำเป็นบ้าง ก็ยังสามารถเกิดเรื่องอันตรายที่ทำให้จมน้ำได้เสมอ (ตัวอย่างเช่น วิ่งลื่น หัวกระแทกขอบสระ ทำให้หมดสติ จมน้ำ, เข้าไปช่วย หรือ ถูกเด็กคนอื่นที่ว่ายน้ำไม่เก่ง จับหรือดึงให้จมน้ำลงไปด้วยกัน ฯลฯ) ดังนั้นแม้ว่า เด็กจะว่ายน้ำได้ดีเพียงไรก็ตาม ก็จะต้องมีผู้ใหญ่ ที่สามารถให้การช่วยเหลือได้เมื่อมีปัญหา อยู่กับเด็กเสมอ ตลอดเวลาที่เด็กอยู่ในบริเวณสระว่ายน้ำ

   แต่ถ้าคุณได้ตัดสินใจสมัครให้ลูกเล็กได้เรียนว่ายน้ำไปแล้ว ก็ขอให้สอบถามว่า การสอนว่ายน้ำนั้นมีขั้นตอนอย่างไร และมีกฎเกณฑ์ปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยอย่างไรบ้าง และคอยสอดส่องดูแล ตลอดเวลาที่ลูกอยู่ในน้ำ และบริเวณสระ

   ไม่ควรให้เด็กเล็กทำการดำน้ำ หรือเอาศีรษะอยู่ในระดับน้ำ เนื่องจากเด็กเล็กจะชอบที่จะกลืนน้ำ ลงไปในกระเพาะได้ค่อนข้างมาก ซึ่งในบางรายอาจเกิดอันตราย จากการที่เด็กดื่มน้ำเปล่าเข้าไปมากเกินไป จนเกิดภาวะน้ำเกินในร่างกาย (Water Intoxication) ทำให้เกลือโซเดียม และสารอื่นๆในเลือด ต่ำลง จนเป็นอันตราย มีอาการซึมลง สมองบวมน้ำ และชักอย่างรุนแรงได้

   ควรอยู่กับลูกตลอดเวลา ตัวต่อตัว (one-on-one, parent-child pairing) และควรสอบถามว่า มีครูฝึก หรือ คนดูแลเรื่องความปลอดภัย ที่ได้ผ่านขั้นตอนการอบรมปฏิบัติการช่วยชีวิต เช่น การปฐมพยาบาล การช่วยหายใจผายปอด ฯลฯ อยู่ดูแลตลอดเวลาของการใช้สระน้ำหรือไม่

 ขอบคุณ ที่มา:
นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561

ยาลดไขั

ยาลดไขั

ถาม: ยาลดไข้มีหลายชนิด จะเลือกใช้อย่างไรดี
ตอบ: ยาลดไข้ที่มีใช้กันนั้นมีตัวยาแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
     พาราเซตามอล ซึ่งถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง และมีฤทธ์ในการลดไข้ได้ดี จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป แต่ถ้าใช้เกินขนาดมากก็จะเกิดอันตรายต่อตับได้
     แอสไพลิน เดิมใช้กันมาก แต่ปัจจุบันนี้ใช้กันน้อยลง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้ในโรคบางอย่างเช่น ไข้เลือดออก,ไข้หวัดใหญ่, อีสุกอีใส เนื่องจากแอสไพลินมีผลทำให้เกร็ดเลือดแข็งตัวช้าทำให้มีเลือดออกง่าย, อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และ พบว่าแอสไพลินนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดไรน์ซินโดรม (Reye’s Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่มีอันตรายและอัตราตายสูง จากภาวะสมองบวม และตับ,ไตวาย
    ไอบลูโปรเฟน เป็นยาที่เริ่มมีความนิยมใช้กันมากขึ้น เนื่องจากมีฤทธ์ในการลดไข้ได้ดีและไม่ปรากฏรายงานการเกิดไรน์ซินโดรมเหมือนอย่างแอสไพลิน และไม่มีผลต่อตับมากนัก แต่มีข้อควรระวังในเรื่องการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และ อาจมีผลต่อการทำงานของไตในกรณีที่เด็กมีภาวะขาดน้ำค่อนข้างมาก ทำให้เกิดไตวายแบบเฉียบพลันได้
    ดังนั้นการใช้ยาลดไข้จึงควรจะรู้ถึง ขนาดของยาที่ใช้กับลูก ซึ่งจะคำนวณตามน้ำหนักตัว, ระยะเวลาห่างที่จะให้ยาซ้ำได้, และคอยดูแลให้ลูกได้ดื่มน้ำได้เพียงพอ ไม่มีปัญหาเรื่องขาดน้ำ
    ยาลดไข้ยังมีรูปแบบการให้ได้หลายวิธี คือ แบบรับประทานซึ่งได้กล่าวไปแล้ว, แบบเหน็บก้น ซึ่งมีความสะดวกในกรณีที่เด็กทานยายากหรือมีอาเจียนมาก ในบ้านเราก็จะมียาเหน็บก้นชนิดที่เป็นยาแอสไพลิน ซึ่งจะมีผลในการลดไข้และผลข้างเคียงต่างๆเหมือนกับชนิดรับประทานเช่นกัน แต่ในต่างประเทศจะมียาเหน็บพาราเซตามอลให้เลือกใช้ได้
    สำหรับยาลดไข้ชนิดฉีดเข้ากล้ามนั้นไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก เพราะจะมีอันตรายได้หลายอย่าง ทางกุมารแพทย์ทั่วไปจึงไม่ได้ใช้กัน

ถาม: ทำไมข้างขวดยาลดไข้จึงเขียนบอกไว้ว่า ห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
ตอบ: เป็นคำเตือนทั่วไปที่ติดไว้ข้างขวดยาโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้ที่ใช้ยาได้พิจารณาไปพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้อง แต่ถ้าได้พบแพทย์แล้ว และทราบในการวินิจฉัยโรคและกำลังให้การรักษาที่ถูกต้องอยู่แล้ว การทานยาลดไข้ตามขนาดยาที่แพทย์แนะนำเกิน 5 วันก็ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด

   แต่ถึงอย่างไรก็ตามถ้าลูกยังมีไข้สูงนานหลายวัน ก็ควรจะพาลูกไปพบแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้อย่างละเอียด เพราะมีการติดเชื้อหลายชนิดที่อาจไม่มีอาการจำเพาะ ที่จะแสดงออกให้เห็นชัดเจนในช่วงวันแรกๆของการเจ็บป่วย เช่น ไข้เลือดออก แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายวันขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการต่างๆของไข้เลือดออกชัดเจนขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของผลเลือด ทำให้แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกได้ก่อนที่จะเกิดอันตรายแทรกซ้อนจากไข้เลือดออก หรือ ไข้อาจเกิดจากการติดเชื้ออย่างอื่น เช่น ทัยฟอยด์, การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ,ปอดบวม ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

ขอบคุณ ที่มา:
นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561

การให้นมผสม

     คุณแม่บางคนไม่สามารถจะให้นมบุตรได้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุต่าง ๆ เช่น เมื่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน หรือแม่เป็นโรคบางชนิด หรืออาจจะมีความผิดปกติของหัวนม เช่น
–หัวนมแยกเป็น 2 แฉก
–หัวนมแบน
–หัวนมบอด
–หัวนมบุ๋ม
กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ จึงจำเป็นต้องเลี้ยงทารกด้วยนมผสม

การเตรียมนมผสม
  –ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมนมผสม
  –เทน้ำที่ต้มเดือดแล้วใส่ในขวดที่ได้ทำความสะอาดแล้ว ตามจำนวนที่ต้องการให้น้ำอุ่น ๆ พอควร
  –เติมนมลงไปตามจำนวนข้อที่กำหนดแล้วปิดปากขวดด้วยจุกและฝาขวด เขย่าให้นมละลายเวลาผสมนม ควรผสมให้มากกว่าจำนวนที่เด็กกินได้เล็กน้อย แล้วทิ้งส่วนที่เหลือไปดีกว่าที่จะผสมไม่พอแล้ว ต้องผสมเพิ่มเติมภายหลัง เมื่อเด็กรับประทานเสร็จแล้วควรล้างขวดนมทันที หรือแช่น้ำไว้ก่อน การตั้งทิ้งไว้จะทำให้มีคราบนมจับและทำความสะอาดได้ยาก

วิธีให้นมผสม
  –ล้างมือให้สะอาดก่อนให้นมลูกทุกครั้ง
  –อุ้มเด็กให้ศีรษะอยู่ตรงรอยพับข้อศอก ฝ่ามือข้างเดียวกันนั้นรองรับที่ก้นเด็ก ให้ลำตัวเด็กทอดอยู่ที่แขนของมารดา อุ้มให้ศีรษะเด็กสูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ลักษณะการอุ้มต้องกระชับ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย
  –ควรตรวจอุณหภูมิของนมที่เตรียมมานั้นก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้นมร้อนเกินไป โดยหยดนมลงบนหลังมือสัก 2-3 หยด
  –น้ำนมที่ให้ทารกดูดนั้นไม่ควรร้อนหรือเย็นเกินไป
  –เอียงขวดให้นมอยู่ในระดับที่เต็มหัวนมเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กดูดอากาศเข้าไป
  –อย่าให้เด็กใช้มือจับหัวนม หรือทิ้งเด็กให้ดูดขวดโดยไม่คอยเฝ้าดูแล
  –ถ้าเด็กดื่มไม่หมด นมในขวดที่เหลือให้เททิ้งอย่าเก็บไว้ให้ดูดอีกในครั้งต่อไป
  –หลังจากให้นมแล้วจับให้เรอโดยให้นั่ง แล้วใช้มือลูบหลังหรือตบหลังเบา ๆ ในช่วงเด็กยังเล็ก ๆ อยู่ แต่เมื่อลูกโตขึ้น คอเริ่มแข็งสามารถจับเรอโดยวิธีพาดบ่าแล้วลูบหลังเบา ๆ ได้เช่นกัน

วิธีทำความสะอาดขวดนม และจุกนม
  –ล้างขวดนมด้วยแปรงและน้ำยาล้างขวดนม ล้างจุกนมทั้งภายในและภายนอกให้สะอาด เช่นเดียวกันและอย่าลืมแปรงบริเวณคอขวดกับฝาปิดขวดด้วย
  –วางขวดนมและฝาขวดนมลงในหม้อต้มน้ำต้มจนเดือด โดยต้มขวดนมนาน 10 นาที แยกต้มจุกนมเพียง 5 นาที หรือนึ่งด้วยเครื่องนึ่งขวดนมด้วยไอน้ำ นาน 20 นาที หลังน้ำเดือด

ข้อควรคำนึงในการให้นมแม่หรือนมผสม
  1.เวลา เวลาที่ให้นมควรเว้นระยะระหว่างมื้อให้พอดีกับความต้องการของเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปจะเว้นระยะ 3-4 ชั่วโมง ต่อ 1 มื้อ ในเด็กแรกเกิด เมื่อโตขึ้นก็เว้นระยะระหว่างมื้อมากขึ้นตามความต้องการของเด็ก เด็กบางคนอาจจะหิวก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนด ขึ้นอยู่กับความจุของกระเพาะเด็กที่แตกต่างกันแต่ปกติกระเพาะเด็กจะได้ประมาณ 50-60 ซี.ซี. และขึ้นอยู่กับมื้อก่อนหน้านั้นว่าเด็กดูดนมได้มากหรือน้อย อิ่มหรือไม่อิ่มด้วย
  2.วิธีการให้นมเด็ก ไม่ว่าจะให้นมแม่หรือนมผสม ควรจะอุ้มให้ถูกวี ให้ศีรษะเด็กอยู่ตรงรอยพับของข้อศอกของลำแขนข้างเดียวกันทอดไปตามลำตัวเด็ก และมือข้างเดียวกันนั้นประคองที่ก้นเด็ก ให้หัวเด็กอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย เพื่อให้นมไหลลงสู่กระเพาะสะดวก มืออีกข้างที่ถือขวดนมในกรณีให้นมผสมต้องเอียงขวดประมาณ 45 องศา และให้มีนมเต็มคอขวดประมาณ 45 องศา และให้มีนมเต็มคอขวดเสมอ
  3.การให้เด็กเรอ ควรทำทุกครั้งหลังให้นมเด็กไม่ว่านมแม่หรือนมผสม ไม่ควรลืมเพราะทำให้เด็กรู้สึกสบาย ไม่แน่นท้องเป็นการช่วยไล่ลมออกจากท้องเด็ก

การทำให้เด็กเรอ
 หลังจากเด็กดูดนมแล้ว ไม่ว่าเป็นนมมารดาหรือนมผสม ควรระวังให้เด็กเรอทุกครั้ง จุดประสงค์ในการทำให้เด็กเรอก็เพื่อไล่ลมออกจากท้องเด็ก เด็กจะได้ไม่อึดอัดหรือท้องอืด ควรทำเป็นระยะ ๆ ขณะเด็กดูดนมและหลังจากให้นมเสร็จแล้ว ทั้งนี้ อาจทำได้หลายวิธี คือ
  1.อุ้มเด็กขึ้นพาดบ่าให้ศีรษะวางบนไหล่ ตะแคงหน้าออกจากตัวมารดาหรือผู้อุ้ม หรืออาจให้คางเกยบนไหล่ แล้วลูบหลังเบา ๆ จะช่วยไล่ลมที่เด็กดูดเข้าไปขณะดูดนมออกมาได้ ก่อนอุ้มเด็กขึ้นพาดบ่า ควรหาผ้ารองที่บ่าเสียก่อนเพราะบางครั้งเด็กที่ดูดนมมาก ๆ อาจจะสำรอกเอานมที่ยังไม่ได้ย่อยออกมาเล็กน้อย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ แต่จะทำให้เลอะเทอะเสื้อผ้าผู้อุ้มเด็กได้
  2.จับเด็กนั่งหลังตรง มือข้างหนึ่งพยุงศีรษะเด็กบริเวณคางและอก มืออีกข้างลูบหลังแต่เบา ๆ จนกว่าเด็กจะเรอ ระวังมือที่พยุงศีรษะและอกเด็ก ต้องจับให้ถนัด อย่าให้เด็กหลุดมือ และอย่ารัดตรงหน้าอกแน่น จะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดไม่สบาย และสำรอกเอานมออกมาได้

น้ำดื่มสำหรับเด็ก
 เด็กจะได้รับน้ำพร้อมกับนมที่กิน ถ้าเด็กกินนมได้เพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องบังคับให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ นอกจากให้ตามหลังกินนม 2-3 อึก เพื่อล้างคราบนมในปากก็พอแล้ว เพื่อไม่ให้เด็กอิ่มน้ำแล้วทานนมได้น้อยลง น้ำที่ให้ควรเป็นน้ำต้มสุกที่ไม่ร้อน


ดูแลเจ้าตัวเล็ก
คลินิกเด็ก ดอท คอม